หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ส่วนประกอบที่สำคัญของกล้องถ่ายรูป


        ส่วนประกอบที่สำคัญของกล้องถ่ายรูปกล้องถ่ายรูปที่นิยมมากในปัจจุบัน แม้จะมีความสามารถ และคุณลักษณะแตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบ คล้ายคลึงกันคือ
1.  ตัวกล้อง (Body) ทำหน้าที่เป็นห้องมืด ป้องกันแสงภายนอกเข้าไปถูกฟิล์มที่บรรจุอยู่ภายในและเป็นที่ยึดส่วนประกอบ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการถ่ายรูป
2.  เลนส์ (Lens) ทำหน้าที่รับแสงสะท้อนจากวัตถุ ส่งไปยังฟิล์มที่บรรจุอยู่ในตัวกล้องฟิล์มจะบึนทึกภาพเอาไว้ กล้องบางชนิดสามารถถอด เปลี่ยนเลนส์ได้ตามความต้องการ เช่น กล้องประเภท SLR (Single len Reflex) หรือเรียกว่ากล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยว เลนส์จะผนึกอยู่ข้างหน้าตัวกล้อง ซึ่งมีขนาด ความยาวโฟกัสแตกต่างกัน เช่น 50 มม . 35 มม . 105 มม . เป็นต้น  
ชนิดของเลนส์
นักประดิษฐ์เลนส์ถ่ายภาพพยายามพัฒนา  และออกแบบเลนส์ให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท  โดยจำแนกประเภทของเลนส์ตามความยาวโฟกัส (Focal length)  เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสแตกต่างกันจะให้ผลในการถ่ายภาพแตกต่างกันออกไป  โดยมีเลนส์ขนาดหนึ่งใช้เป็นเลนส์ประจำกล้องเพื่อถ่ายภาพธรรมดาทั่วไป  ซึ่งมีองศาในการรับภาพใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์ในการมองทั่วไป  และมีเลนส์ขนาดอื่นแตกต่างกันออกไป อีกทั้งชนิดที่มีองศารับภาพกว้างเหมาะสำหรับถ่ายภาพภูมิทัศน์ (Landscape)  และเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสแคบแต่สามารถถ่ายภาพในระยะไกลได้  นอกจากนี้ยังมีเลนส์ชนิดพิเศษ  สามารถอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพให้ได้ลักษณะตามต้องการ  โดยจำแนกชนิดของเลนส์  ดังนี้
2.1.เลนส์มาตรฐาน (Normal lens หรือ Standard lens)
เป็นเลนส์ประจำกล้อง  ซึ่งเมื่อซื้อกล้องถ่ายภาพจะมีเลนส์ชนิดนี้ติดมาด้วย  เป็นเลนส์ที่ใช้ง่าย  มีความยาวโฟกัสระหว่าง 40-58 มม.  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 50 มม. (โดยวัดจากกึ่งกลางเลนส์ถึงฟิล์ม)  เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนรู้ในเรื่องการถ่ายภาพ  เป็นเลนส์ที่มีองศาในการรับภาพกว้างประมาณ 47 องศาซึ่งใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์

2.2.เลนส์มุมกว้าง (Wide-angle lens)
เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นกว่าเลนส์มาตรฐาน  และรับภาพได้มุมกว้างกว่า  เหมาะสำหรับถ่ายภาพในสถานที่แคบหรือระยะห่างระหว่างกล้องถ่ายภาพกับวัตถุที่จะถ่ายอยู่ใกล้กันแต่ต้องการเก็บภาพเป็นบริเวณกว้าง  ซึ่งเลนส์ชนิดอื่นเก็บภาพได้ไม่หมด  เหมาะสำหรับถ่ายภาพภูมิทัศน์ (Land scape)หรือภาพในลักษณะอื่นๆ  เลนส์ชนิดนี้มีความชัดลึกสูงมาก  คือแสดงให้เห็นระ-ยะชัดตั้งแต่ใกล้สุดถึงไกลสุดได้ดี  แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของสัดส่วนระยะ (Perspective) ต่างๆ  จะเกิดการผิดเพี้ยน (Distortion)  ถ้าความยาวโฟกัสยิ่งสั้นมากยิ่งผิดเพี้ยนมากขึ้น  คือ  ภาพจะมีความโค้งเป็นรัศมีวงกลมเลนส์มุมกว้าง  แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
2.2.1 เลนส์มุมกว้างธรรมดา (Moderate Wide-angle lens) มีความยาวโฟกัสระหว่าง 28-35 มม.  มีมุมองศาในการรับภาพระหว่าง 74-62 องศา
2.2.2 เลนส์มุมกว้างมาก (Ultra Wide-angle lens)  มีความยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 13 -24 มม.  มีมุมองศาในการรับภาพ 118-84 องศา
2.2.3 เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens)  มีความยาวโฟกัสน้อยมาก  คืออยู่ระหว่าง 6 - 16 มม.  มีมุมองศาในการรับภาพ 180-360 องศา  ภาพที่ได้จะมีลักษณะโค้งกลม  นิยมใช้สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะสร้างสรรค์ และแปลกตา
2.3. เลนส์ถ่ายภาพไกล (Telephoto lens)
เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติตรงข้ามกับเลนส์มุมกว้าง  คือ  มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์มาตรฐานและเลนส์มุมกว้าง  มีมุมรับภาพแคบเฉพาะส่วนหนึ่งเท่านั้น  เมื่อรับภาพในระยะและตำแหน่งเดียวกัน  จะทำให้ภาพที่บันทึกได้มีขนาดใหญ่กว่าการใช้เลนส์ธรรมดาและเลนส์มุมกว้าง
เลนส์ถ่ายภาพไกลมีขนาดความยาวโฟกัสแตกต่างกันหลายขนาด  จาก 70 มม. ถึง 2,000 มม.  มีมุมองศาการรับภาพตั้งแต่ 34-3 องศา  เพื่อใช้ประโยชน์ต่างกัน  ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามความยาวโฟกัสได้ดังนี้
2.3.1 เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงสั้น (Short Telephoto lens)  มีความยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 70-135 มม.  มีมุมองศาในการรับภาพกว้างประมาณ 34-18 องศา  เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วๆ ไป  เช่น  ภาพบุคคล  ภาพภูมิทัศน์  ภาพถ่ายระยะใกล้  เป็นต้น

2.3.2 เลนส์ถ่ายภาพไกลปานกลาง (Medium Telephoto lens)  มีขนาดความยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 150-300 มม.  มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 18-8 องศา  เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ไม่สามารถเข้าใกล้วัตถุที่จะถ่ายได้  เช่น  สัตว์ในกรง  วัตถุที่อยู่ที่สูงพอสมควร  เป็นต้น

2.3.3 เลนส์ถ่ายภาพช่วงไกล (Long Telephoto lens)  มีความยาวโฟกัสระหว่าง 400-600 มม.  มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 6-4 องศา  เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่อยู่ไกล  เช่น  นกบนต้นไม้ การแข่งขันกีฬา  เป็นต้น

2.3.4 เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงพิเศษ (Super Long Telephoto lens)  มีความยาวโฟกัสระหว่าง 800-2,000 มม.  มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 3-1 องศาเท่านั้น  สำหรับภาพที่ต้องการกำลังขยายมาก เช่น  ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์  ภาพถ่ายบนตึกสูง  เป็นต้น  เลนส์พวกนี้จะน้ำหนักมากเป็นพิเศษ  ควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ

2.4. เลนส์ถ่ายภาพต่างระยะ (Zoom lens)
เลนส์ถ่ายภาพต่างระยะ (Zoom lens) หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า เลนส์ซูม  เลนส์ชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากเพราะใช้สะดวก  มีเลนส์รวมกันอยู่หลายชนิดในตัวเดียว  สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ในตัวด้วยการเลื่อนกระ-บอกเลนส์ (สำหรับเลนส์แบบวงแหวนเดียว)  หรือการหมุนวงแหวนปรับระยะ  (สำหรับเลนส์แบบสองวงแหวน)  ไม่ต้องคอยเปลี่ยนเลนส์บ่อยๆ  เหมือนกับเลนส์ชนิดความยาวโฟกัสคงที่  แต่เนื่องจากเลนส์ชนิดนี้มีชิ้นเลนส์มาก  จึงทำให้ความคมชัดลดลงเล็กน้อย  จึงไม่เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการขยายใหญ่มากๆ  แต่ก็เป็นเลนส์ที่มีผู้นิยมใช้กันมากตามเหตุผลที่ได้กล่าวมา  เลนส์ถ่ายภาพต่างระยะหรือเลนส์ซูมนี้มีหลายขนาดให้เลือกใช้  โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท  คือ
2.4.1 เลนส์ซูมช่วงมุมกว้าง (Wide angle Zoom)  มีช่วงขนาดความยาวโฟกัสสั้น  รับภาพได้มุมกว้าง  เช่นขนาด 20 -35 มม. 24-35 มม. 24-50 มม.  เหมาะสำหรับการใช้งานในการถ่ายภาพมุมกว้าง

2.4.2 เลนส์ซูมช่วงสั้น (Short Zoom)  เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสตั้งแต่ขนาดสั้นถึงปานกลาง  โดยจะมีเลนส์ขนาดมาตรฐานรวมอยู่ด้วย  เป็นเลนส์ซูมที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด  ราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเลนส์ซูมขนาดอื่นๆ กล้องถ่ายภาพของบางบริษัทจะใช้เลนส์ซูมประเภทนี้แทนเลนส์มาตรฐาน  มีช่วงความยาวโฟกัสที่นิยมใช้  คือ  ขนาด 35-70 มม.  35-105 มม.  35-135 มม.  เป็นต้น

2.4.3 เลนส์ซูมช่วงไกล (Telephoto Zoom)  เป็นเลนส์ซูมที่มีความยาวโฟกัสสูงกว่าเลนส์สองประเภทที่ได้กล่าวมา  โดยมีขนาดที่นิยมใช้  คือ 80-200 มม.  100-300 มม.  สำหรับใช้งานแทนเลนส์ถ่ายภาพระยะไกล เลนส์ประเภทนี้จะมีน้ำหนักมาก  ผู้ใช้ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญในการใช้ เพราะอาจทำให้กล้องสั่นไหวได้ง่าย

2.4.4 เลนส์ซูมช่วงไกลพิเศษ (Super Telephoto Zoom)  เป็นเลนส์ซูมที่มีช่วงความยาวโฟกัสสูงมาก  เหมาะสำหรับผู้ที่ถ่ายภาพเฉพาะด้าน เช่น  ช่างภาพที่ถ่ายภาพกีฬาบางประเภท  นักถ่ายภาพสารคดี  หรือนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ก็นิยมใช้เลนส์ประเภทนี้  เลนส์ซูมประเภทนี้มีขนาดช่วงความยาวโฟกัสที่นิยมใช้  คือ  80-400 มม. 400-800 มม. 360-1200 มม. เป็นต้น

นอกจากเลนส์ซูมทั้ง 4 ประเภทที่ได้กล่าวมาแล้ว  บางบริษัทยังได้ผลิตเลนส์ซูมประเภทอื่นๆ อีก  เช่น  มาโครซูม (Macro Zoom) สำหรับถ่ายภาพระยะใกล้  หรือเลนส์ซูมที่เป็นเลนส์รวมตั้งแต่เลนส์มุมกว้างถึงเลนส์ถ่ยภาพระยะไกลปานกลาง  เช่น  ขนาดความยาวโฟกัส 28-20 มม. 35-200 มม.  ดังนั้น  การเลือกใช้เลนส์ชนิดนี้จึงควรคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งาน  และสะดวกเป็นสำคัญ  เพราะเลนส์ที่มีช่วงความยาวโฟกัสห่างกันมากเท่าใด  ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น  และราคาก็จะสูงขึ้นไปด้วย
2.5 เลนส์ภาพถ่ายใกล้ (Macro lens)
เลนส์ถ่ายภาพใกล้หรือที่เรียกว่ามาโครเลนส์  เป็นเลนส์ชนิดที่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้ๆ ได้มากเป็นพิเศษ  ให้อัตราขยายของภาพได้ดีกว่าเลนส์ชนิดอื่นๆ  เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็ก  เช่น  แมลง  ดอกไม้ เครื่องประดับ  หรือวัตถุอื่นๆ ที่ต้องการความคมชัดและให้เห็นรายละเอียดมาก  ซึ่งเลนส์ชนิดอื่นทำไม่ได้  และยังสามารถใช้ถ่ายภาพทั่วๆ ไปได้เช่นเดียวกับเลนส์ชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดความยาวโฟกัสเท่ากัน
เลนส์มาโครมีขนาดความยาวโฟกัสหลายขนาด  ที่ใช้ทั่วไปมีตั้งแต่ 50มม. 55 มม. 85 มม. 105 มม.  โดยมีอัตราขยายของภาพมีอัตราส่วน  คือ 1:2 (ขนาดภาพที่ปรากฏบนฟิล์มจะมีขนาดครึ่งเท่าของวัตถุ)  หรือ 1:1 (ขนาดภาพที่ปรากฏบนฟิล์มจะมีขนาดกันกับวัตถุ)


ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มาโคร
จากเลนส์ทั้ง 5 ชนิดที่ได้กล่าวมา  เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันทั่วไป  อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเลนส์ให้มีความทันสมัย  และมีความสะดวกขึ้น  เช่น  มีการปรับระยะชัดแบบอัตโนมัติ (Auto focus)  การปรับเพิ่ม-ลดรูรับแสงอัตโนมัติ  การนำเอาระบบสะท้อนด้วยกระจกมาใช้เพื่อลดความยาวของเลนส์ถ่ายภาพระยะไกลที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ ให้มีขนาดสั้นลง  หรือเลนส์มุมกว้างที่มีการแก้ระนาบภาพเอียง
ความไวแสงของเลนส์ (Lens Speed)
ความไวแสงของเลนส์  หมายถึง  ขนาดความกว้างของรูรับแสงเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด  เลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างกว่า  แสดงว่าเลนส์ตัวนั้นมีความไวแสงมากกว่า  ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อย  และสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้เร็วกว่าเลนส์ที่มีความไวแสงน้อย แต่เลนส์ยิ่งมีค่าความไวแสงมาก  ราคาของเลนส์ก็จะสูงขึ้นไปด้วย  ดังนั้นจึงควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็นและงบประมาณที่มี
ความกว้างของรูรับแสงจะมีตัวเลขบอกค่าไว้ที่กระบอกเลนส์  เรียกว่า เอฟ/สต็อป (f/stop) หรือ เอฟ/นัมเบอร์ (f/number) ซึ่งมีค่ากำหนดไว้  เช่น 1.2  1.4  4  5.6  8  11  22  ตัวเลขยิ่งมากเท่าใดรูรับแสงยิ่งแคบลง
นอกจากนี้  ผู้ศึกษาการถ่ายภาพควรศึกษาอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น  ไฟแฟลช  แว่นกรองแสง  ฟิล์ม  ขาตั้งกล้อง  เพื่อให้เข้าใจและพัฒนาทักษะในการถ่ายภาพต่อไป

         3. ช่องมองภาพ (View Finder) ปกติช่องมองภาพจะอยู่ด้านหลังของตัวกล้องเป็นจอมองภาพ เพื่อช่วยในการประกอบ และจัดองค์ประกอบของภาพ ให้มีความสวยงามตามหลักของศิลปะการถ่ายรูป
         4. ชัตเตอร์ (Shutter) ทำหน้าที่ควบคุมเวลาฉายแสง (Exposure Time) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไวของชัดเตอร์ (Shutter Speed)
         5. แผ่นไดอะแฟรม (Diaphram) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณความเข้มของการส่องสว่างของแสงที่ตกลงบนแผ่นฟิล์ม มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ หลาย ๆ แผ่นซ้อนเหลี่ยมกันอยู่
         6. รูรับแสง (Aperture) เป็นรูเปิดของแผ่นไดอะแฟรมให้มีขนาดต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น เมื่อต้องการให้แสงเข้ามากก็เปิดรูรับแสงให้มีขนาดใหญ่ และทางตรงกันข้าม ถ้าต้องการปริมาณแสงเข้าไปถูกฟิล์มน้อยก็เปิดรูให้เล็กลง การเปิดขนาดของรูรับแสงแตกต่างกันนี้มีตัวเลขกำหนดเอาไว้ ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นวงแหวน ติดอยู่ที่ตัวเลนส์เรียกตัวเลขต่าง ๆ ว่าเอฟสตอป (F-Stop) หรือ เอฟนัมเบอร์ (F-Number) นอกจากส่วนประกอบที่สำคัญ ๆ ของกล้องถ่ายรูปดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้ควรจะศึกษาปุ่มปรับและควบคุมต่าง ๆ ที่อยู่บนกล้องถ่ายรูป กล้องทั่ว ๆ ไปจะมีปุ่มควบคุมดังนี้คือ
          นอกจากส่วนประกอบที่สำคัญ ๆ ของกล้องถ่ายรูปดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้ควรจะศึกษาปุ่มปรับและควบคุมต่าง ๆ ที่อยู่บนกล้องถ่ายรูป กล้องทั่ว ๆ ไปจะมีปุ่มควบคุมดังนี้คือ

ประวัติกล้องถ่ายรูป



มนุษย์ในสมัยที่ยังไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นกล้องถ่ายภาพขึ้นมานั้น  ใช้การวาดภาพในการบันทึกความทรงจำและสื่อความหมายต่างๆ  แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 19 นั้น  มนุษย์ได้คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพขึ้นจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ 2 สาขา  คือ
1.) ฟิสิกส์  ได้แก่เรื่องของแสงและกล้องถ่ายภาพ
2.) เคมี  ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับสารไวแสงและน้ำยาสร้างภาพ
การถ่ายภาพเป็นการรวม 2 หลักการที่สำคัญเข้าด้วยกัน  คือ  การทำให้เกิดภาพจำลองของวัตถุ  ไปปรากฏบนฉากรองรับ  และการใช้สื่อกลางในการบันทึกภาพจำลองให้ปรากฏอยู่ได้อย่างคงทนถาวร
อริสโตเติล  นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกเป็นผู้บันทึกหลักการแรกไว้เมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช  ซึ่งมีใจความว่า..  "ถ้าเราปล่อยให้ลำแสงผ่านเข้าไปทางรูเล็กๆ ในห้องมืด  ถือกระดาษขาวให้ห่างจากรูรับแสงประมาณ 15 ซม. จะปรากฏภาพหัวกลับที่ไม่ค่อยชัดเจนนักบนกระดาษ"
ต่อมาจึงได้ใช้หลักการนี้ในการประดิษฐ์ "กล้องออบคิวรา" ซึ่งเป็นภาษาละติน  หมายถึง  "ห้องมืด"  หรือที่ชาวไทยเรียกกันว่า "กล้องรูเข็ม" นั่นเอง
วิชาถ่ายภาพตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Photography" มาจากคำศัพท์ในภาษากรีก  โดย "Phos = แสงสว่าง" และ "Graphein = เขียน"  เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง "เขียนด้วยแสงสว่าง  แต่ในปัจจุบันนี้  หมายถึง  วิชาที่ว่าด้วยการทำให้ภาพเกิดขึ้นโดยใช้แสงสว่างมากระทบกับวัสดุไวแสง  และครอบคลุมไปถึงการถ่ายรูป  การล้างฟิล์ม  การอัดขยายภาพ  และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
กล่าวโดยสรุป  วิชาการถ่ายรูปก็คือ  "ความรู้ที่ว่าด้วยกระบวนแห่งการสร้างรูปโดยอาศัยแสงสว่างเข้าช่วย"  นั่นเอง
สำหรับการถ่ายภาพในประเทศไทยนั้น  ได้มีช่างถ่ายภาพคนแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ท่านสังฆราชฝรั่งเศส นามปาเลอปัว  ส่วนช่างถ่ายภาพชาวไทยคนแรก คือ พระยากระสาปน์กิจโกศล หรือ นายโหมด  ต้นตระกูลอมาตยกุล  ซึ่งมีชื่อเสียงในการถ่ายภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป  และช่างถ่ายภาพที่มีผลงานเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติจำนวนมากจนถึงปัจจุบันนี้ คือ หลวงอัคนีนฤมิตร หรือ นายจิตร เป็นช่างหลวงในสมัยรัชการที่ 4 และ 5 ซึ่งมีผลงานภาพถ่ายบุคคลทุกชนชั้น  และยังมีภาพถ่ายสถานที่  ตลอดจนภาพเหตุการณ์ต่างๆ อีกด้วย

ชนิดของกล้องถ่ายรูป
          
กล้องถ่ายรูปนับเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากกล้องออบสคูร่า (Obscura) ที่มีลักษณะเป็นกล้องมืด
(Dark room) และได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นต้นว่า ดาร์แก ทัลโบต บาร์แนก , ดันคัน อิสแมนต์ , แลนด์ และคนอื่น ๆ ซึ่งกล้องปัจจุบันนี้สามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. กล้องบ๊อกซ์ (Box Camera) 
          เป็นกล้องที่ไม่มีกลไกสลับซับซ้อน มีขนาดรูรับแสงคงที่ อาจเป็น 8 หรือ 11 อันใดอันหนึ่ง และมีความเร็วชัดเตอร์เดียวปกติประมาณ 1/60 กล้องชนิดนี้ให้ระยะชัดตั้งแต่ 6 ฟุตขึ้นไปจนถึงไกลที่สุด ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้อาจเป็นฟิล์มขนาด 120, 127 และ 620 บางชนิดอาจใช้ฟิล์มขนาด 126 ก็ได้ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ถ่ายรูปได้ดีในสภาพที่มีแสงเพียงพอ


2. กล้องพับ (Folding Camera)
           
เป็นกล้องที่มีห้องมืดชนิดพับระหว่างตัวกล้องกับเลนส์สามารถพับเก็บ หรือยืดออกมาได้ นอกจากนั้นกล้องชนิดนี้ยังเพิ่มขนาดของรูรับแสง
และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วของชัตเตอร์ได้หลายระดับมากยิ่งขึ้น และอาจใช้กับไฟแวบอีกด้วยฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาดต่าง ๆ เช่น 120,127 และ 620 เป็นต้น


3. กล้องรีเฟล็กซ์ (Reflex Camera) กล้องชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
        
3.1 แบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) บางครั้งอาจเรียกว่ากล้อง TLR ซึ่งเคยได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน กล้องชนิดนี้มีเลนส์ 2 ตัว เลนส์ตัวบนทำหน้าที่สะท้อนภาพเข้าสู่ช่องมองภาพซึ่งมีกระจกเป็นตัวสะท้อนทำให้ผู้ถ่ายรูป
มองเห็นวัตถุที่จะถ่ายได้ ส่วนเลนส์ตัวล่างทำหน้าที่รับแสงเพื่อส่องผ่านไปยังฟิล์ม กล้องรีเฟล์กซ์เลนส์คู่นี้ได้รวมเอาข้อดี ของกล้องใหญ่ (View Camera) และกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ (Range finder) เข้าด้วยกันโดยเฉพาะสามารถที่มองภาพ จากบ้างบนกล้องได้โดยลดกล้องให้ต่ำลงแล้วก็มองภาพจากช่องมองได้สดวกสบาย อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสีย กล่าวคือเนื่องจากใช้เลนส์ 2 ตัว ตั้งอยู่ในแนวดิ่งซึ่งกันและกัน
         ดังนั้นภาพที่มองเห็นจากเลนส์ตัวบนอาจจะไม่เหมือนกันเลยที่เดียวกับภาพที่ถ่าย ซึ่งเรียกว่าเกิดอาการผิดเพี้ยน จากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ยิ่งเป็นการถ่ายรูปใกล้ ๆ บางส่วนของภาพ จะถูกตัดออกไปแม้ว่าเวลามอง ที่ช่องมองภาพนั้นเป็นภาพสมบูรณ์ก็ตาม อีกประการหนึ่งภาพที่เห็นที่ช่องมองภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเสมอ นอกจากนี้ กล้องชนิดนี้ส่วนมากจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบเช่นกัน ฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาด 120, 220 หรือ 35 มม . ได้ 
       
        
3.2 แบบเลนส์เดี่ยว (Single Len Reflex) หรือเรียกว่า SLR ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกและง่ายต่อการประกอบภาพ นอกจากนั้นมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันได้มากมาย กล้องชนิดนี้สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ และไม่มีอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนภาพ (Parallax) เลย เพราะใช้เลนส์ตัวเดียวทำหน้าที่ทั้งมองภาพ หาระยะชัด และบันทึกภาพ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบ คือ อาจจะชำรุดได้ง่าย เพราะการกระดกขึ้นลง ของกระจก 45 องศา อีกประการหนึ่งเมื่อกดชัตเตอร์จะมีเสียงดังมาก อาจทำให้เกิดการรบกวนได้ โดยเฉพาะถ้านำไปถ่ายรูปสัตว์อาจทำให้เกิดการตื่นตระหนกตกใจได้ นอกจากนั้นเมื่อถ่ายรูปในที่ ๆ แสงมีน้อยอาจทำให้การมองภาพที่ช่องมองไม่ชัดเจนเพราะมีการสะท้อนหลายครั้งที่กระจก และปริซึ่มภายในตัวกล้องทำให้ความเข้ม ของแสงลดลงไปได้ กล้องรีเฟลกซ์เลนส์เดี่ยวส่วนมากใช้ระบบชัตเตอร์ม่านจึงทำให้ใช้ความเร็วของชัตเตอร์ได้สูงมาก การเปลี่ยนขนาดของรูรับแสง ก็มีมากฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีเบอร์ 135, 126, 120, 220 และ 110 ซึ่งสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มาก

4. กล้องเล็ก (Miniature Camera) หรือ กล้องวิวไฟเดอร์ (View finder) 
        กล้องชนิดนี้มีบางคนเรียกชื่อว่า เรนจ์ไฟเดอร์ (Range Finder) และบางคนเรียกว่า กล้อง 35 มม . มาตรฐาน (35 mm. Standard Camera) เพราะใช้กับฟิล์มขนาดมาตรฐานคือ 35 มม . กล้องชนิดนี้เหมาะที่สุด สำหรับนักถ่ายภาพสมัครเล่น เพราะออกแบบเพื่อให้สะดวกสบายในการจับถือ มีทั้งชนิดที่ต้องปรับแต่ง และไม่ปรับแต่งความชัด ความเร็วชัดเตอร์และขนาด ของรูรับแสงกล้องชนิดนี้มีลักษณะกระทัดรัดใช้ง่าย ราคาไม่แพงนัก อย่างไรก็ตามก็มีข้อเสียคือภาพถ่ายอาจเกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ได้ถ้าถ่ายรูปใกล้กว่า 3 ฟุต เนื่องจากหน้าต่างหาระยะชัดของภาพตั้งอยู่คนละแห่งกับเลนส์คือจะอยู่เหนือเลนส์ถ่ายรูปเล็กน้อย ในปัจจุบันกล้องชนิดนี้ได้พัฒนา ให้เปลี่ยนเลนส์ได้ และมีอุปกรณ์อื่น ๆ ประกอบมากมายจึงทำให้มีผู้นิยมกล้องชนิดนี้อยู่พอสมควร
5. กล้องนักสืบหรือกล้องเล็กพิเศษ ( Ultra-Miniature Camera) 
         เป็นกล้องที่มีน้ำหนักเบามาก กระทัดรัด มีขนาดเล็ก สามารถพกติดตัวไปได้สะดวกสบาย และสามารถแอบซ่อนเพื่อบันทึกภาพ ในกรณีที่ไม่ให้ผู้ถูกถ่ายรูปสังเกตได้กล้องชนิดนี้ ปรับหน้ากล้องโดยอัตโนมัติ มีไฟแวบพร้อมในตัวกล้องใช้ฟิล์ม 16 มม . และกลักเบอร์ 110
6. กล้องหนังสือพิมพ์ (Press Camera) 
         เป็นกล้องที่ออกแบบใช้กับงานด้านหนังสือพิมพ์ ตัวกล้องมีขนาดใหญ่ ส่วนประกอบของกล้องคล้ายคลึงกับกล้องพับคือมีเบลโล (Bellow) สามารถปรับยืดย่นย่อได้ตามต้องการ ปกติกล้องชนิดนี้ ใช้กับฟิล์ม 120 หรือ ฟิล์มแผ่นขนาด 2 1/4 X 3 1/4 นิ้ว และ 4 X 5 เนื่องจากกล้องมีน้ำหนักมาก ดังนั้นนักข่าวหนังสือพิมพ์ และนิตยสารจึงหันมาใช้กล้องแบบสะท้อนเลนส์เดี่ยวแทนกล้องหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
7. กล้องใหญ่ (Studio Camera) 
         บางครั้งเรียกว่ากล้องวิว (View Camera) เป็นกล้องที่นิยมใช้ตามร้าน
ถ่ายรูปเพื่อธุรกิจการค้า กล้องชนิดนี้มีขนาดใหญ่โตมีน้ำหนักมากจึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้งานภายนอกห้องถ่ายรูปและในการ
ใช้กล้องจำเป็นต้องมีขาตั้ง (Tripod) รองรับตัวกล้อง ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้เป็นฟิล์มแผ่นมีขนาดต่าง ๆ เช่น 2 X 3 นิ้ว 5 X 7 นิ้ว 8 X 10 นิ้ว และ 11 X 14 นิ้ว เมื่อถ่ายรูปเสร็จสามารถถอดฟิล์มออกได้ทันที ข้อดีของกล้องชนิดนี้คือจะไม่เกิด อาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) และยังสามารถมองเห็นภาพที่ช่องมองได้อย่างดี เพราะที่มองมีขนาดใหญ่ ทำให้เห็นรายละเอียดของภาพที่จะบันทึกนั้นได้ดีเนื่องจากมีกระจกขยายอันเป็นส่วนประกอบในช่องมองภาพ
          นอกจากนั้นยังสามารถปรับมุมของภาพได้ตามต้องการอย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบคือ ภาพที่เกิดขึ้นที่ช่องมองภาพนั้นจะมีลักษณะหัวกลับและกลับซ้ายขวา อีกทั้งภาพจะไม่ชัดเจนดังนั้นผู้ถ่ายรูปต้องใช้ผ้าสีดำ คลุมข้างหลังกล้องบนช่องมองภาพ และคลุมศีรษะผู้ใช้ให้สามารถมองภาพได้ชัดเจน ในขณะปรับความคมชัด



8. กล้องถ่ายรูปที่สร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ
         
8.1 กล้องถ่ายรูปแบบสเตอริโอ (Stereo Camera) หรือเรียกว่ากล้องถ่ายรูปสามมิติ (Three Dimension Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบ มาเพื่อถ่ายรูปสามมิติ ในตัวกล้องจะมีเลนส์ 2 ตัวเมื่อถ่ายรูปจะได้ 2 ภาพ ซึ่งภาพแรกเป็นภาพที่ตาข้างขวามองเห็น และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ตาข้างซ้ายมองเห็น ดังนั้นภาพทั้งสองจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเวลาที่ดูภาพลักษณะนี้ ต้องใช้เครื่องดูภาพพิเศษจึงจะทำให้เห็นภาพ 3 มิติได้อย่างชัดเจน
         
8.2 กล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ (Polaroid Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่เมื่อถ่ายเสร็จจะได้ภาพทันที เพราะมีกระบวนการล้างอัดอยู่ในตัวฟิล์ม สร้างภาพภายในเวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ภาพที่จะเป็นภาพโฟสิติฟ (Positive) กล้องชนิดนี้เหมาะในการใช้งานที่ต้องการความรวดเร็วรีบด่วน และเพื่องานบางอย่างเท่านั้น ข้อเสียก็คือ ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูงและภาพที่ได้ไม่มีความคงทนเก็บไว้ได้ไม่นาน เหมือนขบวนการถ่ายรูปทั่ว ๆ ไป
        
8.3 กล้องถ่ายรูปทางอากาศ (Aerial Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาใช้งานเฉพาะ การถ่ายรูปทางอากาศเท่านั้น มีน้ำหนักมาก ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน หรือยานอวกาศเพื่อการถ่ายรูปสำรวจ หรือทำแผนที่ต่าง ๆ ส่วนประกอบของกล้องชนิดนี้ถูกออกแบบพิเศษมาเพื่อใช้งานเฉพาะจึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในงานทั่ว ๆ ไปได้
        
8.4 กล้องถ่ายรูปใต้น้ำ (Under Water Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมา เพื่อใช้ถ่ายรูปใต้น้ำโดยเฉพาะตัวกล้องบรรจุอยู่ในกล่องที่แข็งแรงกันน้ำเข้าและ ทนต่อแรงดันของน้ำการควบคุมเพื่อให้กล้องทำงานนั้น มีปุ่มควบคุมอยู่ภายนอกกล่องบรรจุ
        
8.5 กล้องถ่ายรูปจากกล้องจุลทัศน์ (Photomicrographic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบพิเศษ สำหรับงานที่ต้องการถ่ายรูปขยายตั้งแต่ 30:1 ถึง 1000:1 ตัวกล้องจะต่อเข้ากับกล้องจุลทัศน์ สามารถถ่ายรูปได้ตามต้องการ
        
8.6 กล้องรีโปร (Repro-Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบเพื่อใช้กับงานการพิมพ์ เพื่อถ่ายรูปลายเส้น ภาพแยกสีและพวกฮาลัฟโทน ต่าง ๆ ซึ่งวัสดุต้นแบบอาจเป็น พวกภาพถ่าย หรือภาพวาดก็ได้หากแต่ต้องมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ
        
8.7 กล้องถ่ายรูปความไวสูง (High Speed Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับงานถ่ายรูปนิ่งที่ต้องการถ่ายวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างเร็วมาก ซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถถ่ายได้ กล้องชนิดนี้มีความไวของชัตเตอร์สูงมาก อาจใช้ถ่ายรูปลูกปืน หรือลูกธนูที่กำลังเข้าหาเป้าได้
        
8.8 กล้องถ่ายรูปสำหรับผลิตภาพขนาดเล็ก (Microphotogra-phic Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่ออกแบบมาเพื่อใช้ถ่ายรูปขนาดไม่เล็กกว่า 1/10 ของวัตถุต้นฉบับ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะนำมาถ่ายรูปวาดวงจรอิเล็กโทรนิคและวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ
        
8.9 กล้องพาโนรามา (Panoramic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบ เพื่อถ่ายรูปที่มีมุมของวิวกว้างประมาณเกือบ 140 องศา โดยที่สัดส่วนของภาพ ที่ได้ไม่ผิดเพี้ยนเหมือนการใช้เลนส์ตาปลา กล้องชนิดนี้ นำมาใช้ถ่ายรูปหมู่ที่มีจำนวนคนมาก ๆ นั่งเรียงแถวกันซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถบันทึกภาพ ให้มีสัดส่วนเหมือนจริงได้การทำงานของกล้องชนิดนี้มีเลนส์ที่หมุนรอบแนวดิ่ง โดยแสงจะผ่านเลนส์แล้วหักเหผ่านช่องแคบที่หมุนตามเลนส์ไปตกลงบนฟิล์ม ที่มีลักษณะโค้งอยู่ด้านหลังของกล้องทำให้การบันทึกภาพออกมาดูเป็นภาพที่มีลักษณะยาวในแนวระดับ
        
8.10 กล้องถ่ายรูปแบบจาน (Disk) เป็นกล้องถ่ายรูปที่บันทึกภาพลงบนแผ่นแม่เหล็ก แทนการบันทึกลงบนฟิล์มถ่ายรูป เมื่อต้องการดูภาพก็สอดแผ่นแม่เหล็ก ลงในเครื่อง จะทำให้เห็นภาพบนจอโทรทัศน์ซึ่งเป็นภาพนิ่งและสามารถพิมพ์เป็นแผ่นได้ นอกจากนี้กล้องชนิดนี้ยังนำไปใช้กับการส่งภาพถ่ายเหตุการณ์ จากจุดหนึ่งเข้ายังโรงพิมพ์ เพื่อพิมพ์ภาพข่าวลงในหนังสือพิมพ์โดยส่งภาพไปตามสายโทรศัพท์ได้ ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตได้คิดค้นและออกแบบให้กล้องถ่ายรูป มีลักษณะการใช้ง่าย สะดวกสบาย และใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้อาจไม่ต้องมีความรู้ในด้านการถ่ายภาพมากมายก็สามารถใช้กล้องได้อย่างดีบันทึกภาพได้
ตามต้องการและภาพมีคุณภาพ

         ดังนั้นกล้องจึงทำงานแบบอัตโนมัติในการปรับหน้ากล้องปรับระดับชัตเตอร์ตามสภาพของแสงที่ถ่าย เช่น กล้องโกดัก อินสตาเมติด (Kodak Instamatic) กล้องอักฟา แรบปิด (Agfa Rapid) Argus, Minox BL, Yashica Atoron และ อีกหลาย ๆ ยี่ท้อหรือให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ถ่ายรูปตามความต้องการกล้องอัตโนมัติบางชนิดสามารถบอกวัน เดือน ปี หรือ แม้กระทั่งเวลาในการบันทึกภาพนั้น ๆด้วยกล้องชนิดนี้เหมาะมากในการนำมาใช้เพื่อเก็บข้อมูลทางสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ นอกจากจะบอกรายละเอียดต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วยังใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ถ้าแสงไม่พอที่จะพอ ที่จะถ่ายรูปก็สามารถเปิดไฟแฟลชได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
        ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีประเภทชิป (chip) มาใช้แทนฟิล์มถ่ายภาพและได้ภาพประเภทดิจิตอล (Digital) ที่สามารถโหลด (load) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ (print) หรือนำไปใช้กับงานสื่อประสม (Multimedia) อื่น ๆ ได้