Finepix HS20 EXR ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ความเร็วสูงสุด 8 ภาพต่อวินาทีที่ความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซล ซึ่งเทียบได้เท่าๆ กับกล้อง DSLR ระดับโปรเลยล่ะครับ และยังปรับเพิ่มเป็นสูงสุด 11 ภาพต่อวินาที โดยกล้องจะปรับความละเอียดเป็น 8 ล้านพิกเซล แต่ถึงจะเพียง 8 ล้าน ก็ไม่ได้น้อยเกินไปหรอก ถ้าเก็บแอ๊คชั่นได้ครบถ้วน
รูปแบบถ่ายภาพต่อเนื่องยังเลือกการทำงานแบบ Best Frame Capture Mode ซึ่งกล้องสามารถบันทึกภาพนอกเหนือจากภาพที่กดชัตเตอร์ได้อีก 7 และ 15 ภาพ โหมดนี้เจ๋งดีเหมือนกันครับ โดยผู้ใช้ตั้งความเร็วในการบันทึกภาพต่อเนื่องได้ที่ 11, 8, 5 และ 3 ภาพต่อวินาที รวมทั้งเลือกได้ว่าจะให้กล้องบันทึกจังหวะก่อนหน้า หรือหลังจากที่กดชัตเตอร์ รวมทั้งสามารถเลือกย่อยลงไปได้อีกว่าจะให้กล้องบันทึกย้อนหลังเป็นอัตราส่วน อาทิ เมื่อเลือกบันทึก 8 ภาพ สามารถเลือกอัตราส่วนได้เป็น 7.0, 6.1, 5.2, 4.3, 3.4, 2.5, 1.6 และ 0.7 งงมั๊ยครับ ถ้างงอ่านต่อเลยครับ ช้าๆ นะครับ เมื่อเลือกใช้งานฟังก์ชั่นนี้ ทันที่ที่แตะปุ่มชัตเตอร์ กล้องจะเริ่มบันทึกภาพ ซึ่งผู้ใช้จะได้ยินเสียงชัตเตอร์ดังแต๊กๆ อยู่ตลอด กล้องจะเก็บบันทึกภาพทั้งหมดในบัพเฟอร์ก่อน เมื่อผู้ใช้กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปจนสุด กล้องจึงจะเริ่มบันทึกภาพจริง ตามอัตราส่วนการปรับตั้ง อาทิ เลือกรูปแบบบันทึก 8 ภาพ ให้กล้องบันทึกภาพหลังจากที่กดชัตเตอร์แล้ว คืออัตราส่วน 0.7 เมื่อกดชัตเตอร์ลงไปจนสุด กล้องจะบันทึกภาพต่อจากจังหวะที่กดชัตเตอร์ไปอีก 7 ภาพ จากนั้นจะบันทึกลงในเมมโมรี่การ์ด หรือเมื่อเลือกบันทึกอัตราส่วน 7.0 กล้องจะบันทึกล่วงหน้า 7 ภาพและหยุดบันทึกจังหวะที่กดชัตเตอร์จนสุดนั่นแหละครับ และผู้ใช้สามารถเลือกจังหวะภาพที่ดีที่สุดมาใช้งานได้
มีข้อแนะนำคือ เมื่อแตะปุ่มชัตเตอร์ จะได้ยินเสียงชัตเตอร์ดังต่อเนื่อง หากปล่อยนิ้วออกจากปุ่มชัตเตอร์จะไม่มีภาพใดๆ เกิดขึ้น เพราะผู้ใช้ยังไม่ได้กดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ หรือกดลงไปจนสุดนั่นเอง หรือเมื่อแตะค้างไว้โดยไม่กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปจนสุด ประมาณ 10 วินาที กล้องจะบันทึกภาพให้โดยอัตโนมัติ
ในโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องนี้ยังเลือกการทำงานอื่นๆ ได้อีก อาทิ ถ่ายภาพคร่อมค่าการวัดแสง ถ่ายภาพคร่อม Film Simulation และถ่ายภาพคร่อมไดนามิกเรนจ์ เป็นต้น ฟังก์ชั่นทั้งหมดช่วยลดความผิดพลาดจากการปรับตั้งกล้อง หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ที่พลาดไม่ได้ ซึ่งช่วยให้ได้ภาพสวย คมชัดตามที่ต้องการอย่างแน่นอน
Fujifilm Finepix HS20 EXR พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานต่อจากรุ่น HS 10 จุดแตกต่างที่ชัดเจนเลยคือ ใช้เซ็นเซอร์แบบใหม่ EXR CMOS ความละเอียดสูงถึง 16 ล้านพิกเซล ที่รวบรวมเทคโนโลยีการทำงานที่ยอดเยี่ยมไว้ด้วยกัน อาทิ HR (High Resolution), DR (Wide Dynamic Range) และ SN (High Sensitivity and Low Noise) ช่วยให้ถ่ายทอดสีสัน ความคมชัด และโทนภาพ ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และอีกหนึ่งจุดเด่นคือ ใช้เลนส์พลังซูมสูงถึง 30 เท่า ทางยาวโฟกัส 24-720 มม. ครอบคลุมการถ่ายภาพแบบต่างๆ ทั้งวิวทิวทัศน์ ภาพบุคคล ภาพแคนดิด หรือสิ่งที่อยู่ในระยะไกล อย่างเช่น ภาพสัตว์ป่า หรือภาพกีฬา
เซ็นเซอร์ภาพแบบใหม่ EXR CMOS 16 ล้านพิกเซล ออกแบบโครงสร้างของเซ็นเซอร์เป็นแบบ Back Side Illuminated (BSI) โดยวางตำแหน่งของ Hi-speed Transfer Circuit ไว้ด้านหลังของ Photodiode ทำให้แสงสามารถผ่านเข้าสู่ Photodiode ได้เต็มที่ และไม่มีการสะท้อนกลับ เหมือนรูปแบบของเซ็นเซอร์แบบเดิม ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องตั้งใช้ความไวแสงสูงมากนัก รวมทั้งมี Noise ที่น้อยลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังทำงานประสานกันเป็นอย่างดีกับหน่วยประมวลผล EXR ซึ่งทำให้มีการทำงานที่รวดเร็ว ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี และให้ไฟล์ภาพคุณภาพสูง
ภาพโครงสร้างของเซ็นเซอร์แบบ BSI
1. Micro Lens
2. Color Filter
3. Photodiode
4. High Speed Transfer Circuit
เปรียบเทียบเซ็นเซอร์แบบเก่า กับแบบ BSI CMOS
การสูญเสียแสงหรือการสะท้อนกลับของแสงจะน้อยลง เซ็นเซอร์จะรับแสงได้ดีขึ้น
1. Light
2. High Speed Transfer Circuit
3. Photodiode
สามประสาน สร้างสรรค์งานคุณภาพอีกแล้วครับท่าน
1. EXR CMOS Sensor
2. EXR Processor
3. Fujinon Lens
หลายๆ คนที่ใช้คอมแพค มักจะมีปัญหาเรื่องการปรับซูม ซึ่งส่วนมากจะใช้ก้านโยกซ้าย-ขวา เพื่อซูมเข้า-ออก เกินมั่ง ขาดมั่ง แต่สำหรับ HS 20 EXR ใช้ปรับซูมแบบมือหมุน เหมือน DSLR ยังไง ยังงั้น ต้องการระยะแค่ไหน หมุนไปได้เลย เป๊ะๆ และมีตัวเลขระยะเลนส์บอกไว้ด้วย ทั้งระยะแบบดิจิตอล และเทียบเท่าระบบฟิล์ม เลนส์ที่ใช้ยังคงเป็น เลนส์ Fujinon ออพติคอลซูม 30 เท่าทางยาวโฟกัส 24-720 มม. เท่ากับรุ่นเดิม แต่เคลือบผิวเลนส์ใหม่แบบ Super EBC (Electronic Beam Coating) ช่วยลดแสงฟุ้งและแฟลร์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งลดอาการขอบภาพม่วงลงไปด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะถูกใจสมาชิกเวบหรือเปล่า เพราะเห็นแซวๆ กันว่าชอบม่วง ชอบม่วง
โหมดถ่ายภาพของ HS20 EXR ปรับเปลี่ยนไปจากรุ่นเดิมบ้าง โดยเมื่อเปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ EXR ก็เลยพ่วงโหมด Auto EXR มาแทนโหมด SR Auto ซึ่งกล้องจะปรับเลือกรูปแบบการทำงานของเซ็นเซอร์ภาพให้เหมาะสมกับรูปแบบภาพที่ต้องการโดยอัตโนมัติ เช่นถ้าหากว่าถ่ายภาพในสภาพแสงปกติ กล้องจะปรับโหมดเป็น HR (High Resolution) ซึ่งเก็บรายละเอียดและถ่ายทอดคุณภาพของภาพที่สูงสุด ให้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวสูงสุด ส่วนถ้าหากว่าถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกันมากๆ หรือคอนทราสต์สูง กล้องจะปรับโหมดเป็น DR (Wide Dynamic Range) ขยายไดนามิกเรนจ์ให้กว้างขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดครบถ้วนทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง และเกลี่ยภาพให้ได้โทนที่เป็นธรรมชาติ และเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อง กล้องก็จะปรับโหมดเป็น SN (High Sensitivity and Low Noise) และปรับชิฟท์ความไวแสงให้สูงขึ้นตามความเหมาะสมในแต่ละสภาพแสง และลด Noise ไปด้วย ซึ่งช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดเช่นกัน หรือจะเลือกปรับใช้งานแต่ละโหมดด้วยตนเองก็ได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมีโหมดถ่ายภาพอื่นๆ เช่น โหมดออโต้ โหมด SP หรือ Scene Position ซึ่งเป็นโหมดจำลองรูปแบบภาพสำเร็จรูปให้ผู้ใช้เลือกใช้งานได้ตามความต้องการ โหมด Advance Mode หรือ Adv. มีสองโหมดถ่ายภาพให้เลือกใช้ โหมดแรกคือ Pro Focus Mode สำหรับถ่ายภาพบุคคลที่เน้นฉากหลังเบลอ เพื่อช่วยให้ซับเจคต์เด่นขึ้น โดยกล้องจะถ่ายภาพสองภาพ โฟกัสที่ซับเจคต์ในภาพแรก และภาพที่สองปรับโฟกัสไปที่ฉากหลัง จากนั้นจะนำเอาภาพทั้งสองมาประมวลผลใหม่แล้วบันทึกเป็นภาพเดียวที่ชัดเฉพาะซับเจคต์ ส่วนฉากหลังจะเบลอ แยกซับเจคต์โดดเด่นออกมาชัดเจน โดยไม่ต้องพะวงว่าจะต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ หรือซูมเลนส์ที่ระยะเทเล หรือจะต้องเข้าไปถ่ายใกล้ๆ เท่านั้น
อีกโหมดหนึ่งคือ Pro Low Light Mode ซึ่งกล้องจะถ่ายภาพต่อเนื่องกัน 4 ภาพ แล้วนำมาประมวลผลเป็นภาพใหม่ที่มีความคมชัดสูงสุด เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน และปราศจาก Noise ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพโดยใช้ความไวแสงสูงมากๆ ก็ตาม ข้อแนะนำสไหรับโหมดนี้คือ เหมาะสำหรับถ่ายภาพสิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว หรืออยู่นิ่งๆ กับที่ เพราะถ้าหากว่าเกิดการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่แล้ว การประมวลผลจากภาพทั้ง 4 ภาพอาจจะผิดพลาดได้
ส่วนผู้ที่ต้องการควบคุมการทำงานของกล้องทั้งหมด สามารถเลือกใช้โหมดโปรแกรม (P), โหมดออโต้รูรับแสง (S), โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A) และโหมดแมนนวล (M) ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ของกล้องได้เองทั้งหมด
และสำหรับผู้ที่ถ่ายภาพบางอย่างอยู่เป็นประจำ และไม่มีการปรับเปลี่ยนค่าการตั้งกล้องใหม่ ก็สามารถตั้งค่านั้นๆ ให้เป็นโหมดถ่ายภาพเฉพาะ หรือ Custom Mode ซึ่งเป็นรูป C อย่างเช่น ถ่าย Portrait อยู่เป็นประจำ ก็สามารถตั้งค่าต่างๆ ของกล้องให้เหมาะสำหรับถ่าย Portrait และบันทึกเก็บไว้ในตำแหน่ง C เมื่อถ่ายภาพครั้งต่อไป ผู้ใช้ก็หมุนแป้นปรับโหมดถ่ายภาพมาที่ตำแหน่ง C และใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไรเพิ่มเติมอีก
และถึงแม้ว่าจะเป็นกล้องแบบคอมแพคดิจิตอล แต่ก็สามารถบันทึกไฟล์ฟอร์แมท RAW และ RAW+JPEG ในโหมดถ่ายภาพนิ่งได้เช่นเดียวกับ DSLR ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไฟล์ภาพคุณภาพสูงสุด และต้องการปรับแก้ไขไฟล์ภาพตามที่ต้องการในภายหลัง ถ้าหากว่าถ่ายเป็น JPEG ปกติ แต่บางภาพต้องการถ่ายเป็น RAW ก็กดปุ่มควบคุม 4 ทิศทางด้านบน ได้เลย แต่ใช้เฉพาะบันทึกภาพต่อภาพเท่านั้น และถ้าหากต้องการถ่าย RAW ทั้งหมด หรือถ่าย RAW+JPEG จะต้องเข้าไปปรับตั้งจากเมนู
ฟังก์ชั่นจำลองรูปแบบฟิล์ม หรือ Film Simulation มีให้ใช้งานกับกล้องฟูจิฟิล์มหลายๆ รุ่น สามารถเลือกใช้งานตามความเหมาะสมได้ อาทิ Standard Mode จำลองรูปแบบฟิล์มสไลด์สี Provia สำหรับถ่ายภาพทั่วๆ ไป ที่ต้องการสีสันอิ่มตัว, Vivid Mode จำลองรูปแบบฟิล์มสไลด์สี Velvia สำหรับถ่ายภาพที่ต้องการสีสันที่สดใส และอิ่มตัวมากเป็นพิเศษ เช่น ภาพวิวทิวทัศน์ เป็นต้น, Soft Mode จำลองรูปแบบฟิล์มสี Astia ซึ่งให้โทนภาพที่นุ่มนวล และให้สีผิวที่ดูเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคล นอกจากนี้ยังมี Black & White สำหรับถ่ายภาพขาว-ดำ และ Sepia สำหรับถ่ายภาพแบบเก่าๆ ย้อนยุค โดยให้ภาพออกโทนสีน้ำตาล
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า เมื่อซูมภาพที่ระยะเทเลมากๆ แล้วต้องถือด้วยมือ กล้องจะไม่สั่นหรือ HS20 EXR จึงออกแบบระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบสองต่อคือ ปรับชิฟท์เซ็นเซอร์รับภาพ และปรับความไวแสงให้สูงขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพื่อให้ภาพที่คมชัดสมบูรณ์แบบ ซึ่งโดยปกติจะชดเชยความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำลงประมาณ 4 สตอป ซึ่งถ้าหากว่าสภาพแสงน้อยเกินไป หรือความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินเกณฑ์ปกติ ก็ต้องเปิดแฟลช หรือใช้ขาตั้งกล้องช่วยครับ เมื่อเลือกโหมดถ่ายภาพ EXR Auto กล้องจะปรับระบบป้องกันการสั่นไหวให้เป็นแบบ Advanced Anti Blur โดยกล้องจะถ่ายภาพต่อเนื่องกัน 4 ภาพจากนั้นจะนำภาพทั้งหมดมาประมวลผลใหม่และรวมเป็นภาพเดียวที่ให้ความคมชัด และมี Noise ต่ำ
ข้อดีคือหาซื้อไม่ยาก ใช้สะดวก แต่เปลืองมากกว่าแบบ Li-Ion
หรือถ้าหากว่าใช้แบบ รีชาร์จ ก็ช่วยให้ประหยัดไปได้มากขึ้น
ประโยชน์ของแบตเตอรี่ AA ที่เคยสัมผัสมาเลยคือ เวลาที่จะต้องถ่ายภาพแล้วแบตหมด และอยู่ในสถานการณ์ที่หาที่ชาร์จไม่ได้ Li-Ion เซ็งเลยล่ะครับ ส่วนกล้องที่ใช้แบต AA ถ่ายได้ตามปกติ เพราะมีอัลคาไลน์สำรอง
สำหรับ DSLR ที่ใช้แบตเตอรี่กริป แล้วมีรางถ่าน AA แถมมาด้วย หยิบติดไปด้วยเวลาออกทริป ช่วยได้ในยามฉุกเฉินนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น